Banner
เมื่อพระพุทธศาสนาถูกบิดเบือน เราควรช่วยกันประคับประคอง นำคำสอนของพระศาสดามาปฏิบัติตาม

กฏอิทัปปัจจยตา : หัวใจปฏิจจสมุปบาท.

อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ เมื่อสิ่งนี้ มี สิ่งนี้ ย่อมมี
อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น.
อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ ไม่มี สิ่งนี้ ย่อมไม่มี
อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป.

ประทุษร้ายสกุล อาบัติสังฆาทิเสส.

ถ. ภิกษุทำอย่างไร เรียกว่าประทุษร้ายสกุลและต้องอาบัติอะไร ?
ต. ภิกษุทำอย่างนี้ คือยอมตัวให้ชาวบ้านเขาใช้ เช่นเขาวานให้จัดหรือเก็บดอกไม้เป็นต้น หรือให้ของแก่ชาวบ้าน อยากได้ลาภ สักการะมาก โดยอาการประจบประแจงอย่างนี้ เรียกว่าประทุษร้ายสกุล เมื่อเธอทำอย่างนี้แล้ว สงฆ์ควรไล่ออกเสียจากวัดเพื่อทรมานให้รู้สึก ครั้นภายหลัง เธอยังกลับติเตียนสงฆ์ต่าง ๆ ควรฉุดคร่าเธอมาในท่ามกลางสงฆ์ให้สงฆ์สวดกรรม ๓ ครั้ง ถ้าเธอไม่ละ สวดสมนุภาสน์ จบครั้งที่ ๑ เป็นทุกกฎ เมื่อจบครั้งที่ ๒ เป็นถุลลัจจัย ที่ ๓ เป็นอาบัติสังฆาทิเสส.

ถ. ภิกษุประจบคฤหัสถ์ เหตุไฉนท่านจึงเรียกประทุษร้ายสกุล ?
ต. เพราะตัดศรัทธาเลื่อมใสของเขาในบุญกุศลโดยตรงเสีย ให้เลื่อมใสด้วยอำนาจการประจบของตน.

ถ. ภิกษุยอมตนลงเป็นคนใช้ของคฤหัสถ์ เพื่อให้เขาชอบพอสงฆ์มีอำนาจทำอย่างไรแก่เธอบ้างหรือไม่ ? จงชี้หลัก.
ต. สงฆ์มีอำนาจไล่เสียจากวัด ถ้ากลับติเตียนสงฆ์ ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์มีอำนาจสวดกรรมเพื่อให้ละข้อที่ประพฤตินั้นเสีย ชี้สังฆาทิเสสที่ ๑๓ เป็นหลัก.

พระบัญญัติ
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 622-623

      อนึ่ง ภิกษุเข้าไปอาศัยบ้านก็ดี นิคมก็ดี แห่งใด แห่งหนึ่งอยู่ เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของเธอ เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และ สกุลทั้งหลายอันเธอประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลาย พึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า

     ท่านเป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้
     และภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้
     พึงว่ากล่าวภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า พวกภิกษุถึงความพอใจด้วย ถึงความขัดเคืองด้วย ถึงความหลงด้วย ถึงความกลัวด้วย ย่อมขับภิกษุบางรูป ย่อมไม่ขับภิกษุบางรูป เพราะอาบัติเช่นเดียวกัน ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย หาได้ถึงความพอใจไม่ หาได้ถึงความขัดเคืองไม่ หาได้ถึงความหลงไม่ หาได้ถึงความกลัวไม่ ท่านเองแล เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่้และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เข้าได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ และภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียวภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลาย พึงสวดสมนุภาสกว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสกว่าจะครบสามจบอยู่สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย
เป็นสังฆาทิเสส.

วิภังค์
ที่ชื่อว่า สกุล หมายสกุล ๔ 
     คือ สกุลกษัตริย์ สกุลพราหมณ์ สกุลแพศย์ สกุลศูทร
บทว่า เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล 
     คือ ประจบสกุลด้วยดอกไม้ก็ดี ผลไม้ก็ดี แป้งก็ดี ดินก็ดี ไม้สีฟันก็ดี ไม้ไผ่ก็ดี การแพทย์ก็ดี การสื่อสารก็ดี
บทว่า มีความประพฤติเลวทราม 
     คือ ปลูกไม้ดอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยกรองดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นร้อยกรองบ้าง.

อนาบัติ
1.ภิกขุผู้ยังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์
2.ภิกขุผู้เสียสละได้
3.ภิกขุวิกลจริต
4.ภิกขุมีจิตฟุ้งซ่าน
5.ภิกขุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา
6.ภิกขุอาทิกัมมิกะ
ไม่ต้องอาบัติแล.

เรื่องต้นบัญญัติ
     พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถึ. ครั้งนั้นภิกขุที่ชื่อว่าเป็นพวกพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะ เป็นภิกขุเจ้าถิ่นอยู่ในชนบท ชื่อว่า กิฎาคิรี เป็นพระอลัชชี (ไม่ละอาย) ภิกขุเหล่านั้นประพฤติอนาจาร มีประการต่างๆ เช่นการประจบคฤหัสถ์ ทำสิ่งต่างๆให้เขาเล่นซนต่างๆ.
     มีภิกขุรูปหนึ่งจำพรรษาในแคว้นกาสี ผ่านมาพัก ณ ชนบทนั้นเพื่อจะเดินทางไปกรุงสาวัตถี เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ภิกขุนั้นเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าด้วยอาการสำรวม แต่มนุษย์ทั้งหลายไม่ชอบ เพราะไม่แสดงอาการประจบประแจงเหมือนภิกขุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ จึงไม่ถวายอาหาร. แต่อุบาสกผู้หนึ่ง(เป็นผู้เข้าใจพระธัมม์วินัยถูกต้อง) เห็นเข้าจึงนิมนต์ภิกขุนั้นไปฉันที่บ้านของตน และขอให้ท่านไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ภิกขุพวกพระอัสสชิ และปุนัพพสุกะ ประพฤติตนไม่สมควรต่าง ๆ ความทราบถึงพระพุทธเจ้า ทรงติเตียนว่า
“ดูก่อนภิกขุทั้งหลาย การกระทำของภิกขุโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ.
     ดูก่อนภิกขุทั้งหลาย ไฉนภิกขุโมฆบุรุษเหล่านั้น จึงได้ประพฤติอนาจารเห็นปานนี้ คือ ปลูกต้นไม้ดอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยกรองดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นร้อยกรองบ้าง ทำมาลัยต่อก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำมาลัยเรียงก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้ช่อเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้พุ่มเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้เทริดเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้พวงเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้แผงสำหรับประดับอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง
     พวกเธอนำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งมาลัยต่อก้าน นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งมาลัยเรียงก้าน นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้ช่อ นำไปเองบ้างใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้พุ่มนำไปเองบ้างใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้เทริด นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้พวง นำไปเองบ้างใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้แผง สำหรับประดับอก เพื่อกุลสตรี เพื่อกุลธิดา เพื่อกุลกุมารี เพื่อสะใภ้แห่งสกุล เพื่อกุลทาสี
     พวกเธอฉันอาหารในภาชนะอันเดียวกันบ้าง ดื่มน้ำในขันใบเดียวกันบ้าง นั่งบนอาสนะอันเดียวกันบ้าง นอนบนเตียงอันเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดอันเดียวกันบ้าง นอนคลุมผ้าห่มผืนเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาด และคลุมผ้าห่มร่วมกันบ้าง กับกุลสตรี กุลธิดา กุลกุมารี สะใภ้แห่งสกุล กับกุลทาสี
ฉันอาหารในเวลาวิกาลบ้าง ดื่นน้ำเมาบ้าง ทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้บ้าง ฟ้อนรำบ้าง ขับร้องบ้าง ประโคมบ้าง เต้นรำบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ขับร้องกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ประโคมกับหญิงฟ้อนรำบ้าง เต้นรำกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงขับร้องบ้าง ขับร้องกับหญิงขับร้องบ้าง ประโคมกับหญิงขับร้องบ้าง เต้นรำกับหญิงขับร้องบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงประโคมบ้าง ขับร้องกับหญิงประโคมบ้าง ประโคมกับหญิงประโคมบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงเต้นรำบ้าง ขับร้องกับหญิงเต้นรำบ้าง ประโคมกับหญิงเต้นรำบ้าง เต้นรำกับหญิงเต้นรำบ้าง เล่นหมากรุกแถวละแปดตาบ้าง เล่นหมากรุกแถวละสิบตาบ้าง เล่นหมากเก็บบ้าง เล่นชิงนางบ้าง เล่นหมากไหวบ้าง เล่นโยนห่วงบ้าง เล่นไม้หึ่งบ้าง เล่นฟาดให้เป็นรูปต่าง ๆ บ้าง เล่นสะกาบ้าง เล่นเป่าใบไม้บ้าง เล่นไถน้อย ๆบ้าง เล่นหกคะเมนบ้าง เล่นไม้กังหันบ้าง เล่นเขียนทายบ้าง เล่นทายใจบ้าง เล่นเลียนคนพิการบ้าง หัดขี่ช้างบ้าง หัดขี่ม้าบ้าง หัดขี่รถบ้าง หัดยิงธนูบ้าง หัดเพลงอาวุธบ้าง วิ่งผลัดช้างบ้าง วิ่งผลัดม้าบ้าง วิ่งผลัดรถบ้าง วิ่งขับกันบ้าง วิ่งเปรี้ยวกันบ้าง ผิวปากบ้าง ปรบมือบ้าง ปล้ำกันบ้าง ชกมวยกันบ้าง ปูลาดผ้าสังฆาฏิ ณ กลางสถานเต้นรำ แล้วพูดกับหญิงฟ้อนรำอย่างนี้ว่า น้องหญิงเธอจงฟ้อนรำ ณ ที่นี้ดังนี้บ้าง ให้การคำนับบ้าง ประพฤติอนาจารมีอย่างต่างๆบ้างเล่า.”
     ทรงรับสั่งให้พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พาหมู่ภิกขุไปทำปัพพาชนียกัมม์ (การลงโทษโดยสงฆ์ให้ประพฤติวัตร และไล่ให้ออกจากที่นั้น) แก่พวกภิกขุหมู่นั้น (ซึ่งเป็นสัทธิวิหารริกของพระอัครสาวกทั้งสอง)

     แต่ภิกขุพวกนั้นสงฆ์ทำปัพพาชนียกัมม์แล้ว ยังไม่ประพฤติชอบหายเย่อหยิ่ง ไม่ประพฤติกลับตัว ไม่ขอขมาภิกขุทั้งหลาย ยังด่าว่าการกสงฆ์ (สงฆ์ผู้ดำเนินการในกิจตามพระธัมม์วินัย) เที่ยวใส่ความว่าการกสงฆ์ลำเอียงปริวารของภิกขุนั้นบางพวกหลีกไปเสียก็มี บางพวกสึกเสียก็มี.
     พระผู้มีพระภาคทรงทราบความนั้น ทรงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท มีใจความว่า ภิกขุประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม เป็นที่รู้เห็นทั่วไป ภิกขุทั้งหลายพึงขับเสียจากที่นั้น ถ้าเธอกลับว่าติเตียน ภิกขุทั้งหลายพึงสวดประกาศ (เป็นการสงฆ์) ให้เธอละเลิก ถ้าสวดครบ 3 ครั้ง ยังดื้อดึง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
SHARE

Chumpen

  • Image
  • Image
  • Image
  • Image
  • Image
    Blogger Comment

1 ความคิดเห็น:

Recent Posts Widget