Banner
เมื่อพระพุทธศาสนาถูกบิดเบือน เราควรช่วยกันประคับประคอง นำคำสอนของพระศาสดามาปฏิบัติตาม

กฏอิทัปปัจจยตา : หัวใจปฏิจจสมุปบาท.

อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ เมื่อสิ่งนี้ มี สิ่งนี้ ย่อมมี
อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น.
อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ ไม่มี สิ่งนี้ ย่อมไม่มี
อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป.

จตุตถปาราชิกสิกขาบท (อวดอุตตริมนุสสธรรม)


จตุตถปาราชิกสิกขาบท
(อุตริมนุสธรรม หรือ อุตริมนุษยธรรม แปลว่า ธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ หรือธรรมของมนุษย์ผู้ยวดยิ่ง ได้แก่ คุณวิเศษซึ่งมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถมีหรือเป็นได้ มิใช่วิสัยของมนุษย์ทั่วไป แต่เป็นวิสัยของผู้บรรลุธรรมขั้นสูงแล้ว ซึ่งก็คือ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ มรรค และผล
การที่ภิกษุแสดงตนหรือพูดให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนได้ฌานชั้นนั้นชั้นนี้ ตนได้บรรลุวิโมกข์ ได้สมาธิ สมารถเข้าสมาบัติได้ หรือสำเร็จมรรคสำเร็จผลอย่างนั้นอย่างนี้ เรียกว่า อวดอุตริมนุสธรรม หรืออวดอุตริมนุษยธรรม)

เรื่องภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
           โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวันเขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกัน ซึ่งเคยเห็นร่วมคบหากันมา จำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ก็แลสมัยนั้น วัชชีชนบท อัตคัดอาหาร ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีข้าวตายฝอย ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหาก็ทำไม่ได้ง่าย จึงภิกษุเหล่านั้นคิดกันว่า บัดนี้วัชชีชนบทอัตคัดอาหาร ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีข้าวตายฝอย ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย พวกเราจึงจะพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกันไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และจะไม่ต้องลำบากด้วยบิณฑบาต ด้วยอุบายอย่างไรหนอ
            ภิกษุบางพวกพูดอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ผิฉะนั้น พวกเราจงช่วยกันอำนวยกิจการอันเป็นหน้าที่ของพวกคฤหัสถ์เถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาจักมุ่งถวายบิณฑบาตแก่พวกเราด้วยอุบายอย่างนี้ พวกเราจักเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และจักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต
            ภิกษุบางพวกพูดอย่างนี้ว่า ไม่ควร ท่านทั้งหลาย จะประโยชน์อะไรด้วยการช่วยกันอำนวยกิจการ อันเป็นหน้าที่ของพวกคฤหัสถ์ ท่านทั้งหลาย ผิฉะนั้น พวกเราจงช่วยกันนำข่าวสาส์นอันเป็นหน้าที่ทูตของพวกคฤหัสถ์เถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาจักมุ่งถวายบิณฑบาตแก่พวกเรา ด้วยอุบายอย่างนี้ พวกเราจักเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และจักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต
            ภิกษุบางพวกพูดอย่างนี้ว่า อย่าเลย ท่านทั้งหลาย จะประโยชน์อะไรด้วยการช่วยกันอำนวยกิจการ อันเป็นหน้าที่ของพวกคฤหัสถ์ จะประโยชน์อะไรด้วยการช่วยกันทำข่าวสาส์นอันเป็นหน้าที่ทูตของพวกคฤหัสถ์ ท่านทั้งหลาย ผิฉะนั้น พวกเราจักกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ว่า ภิกษุรูปโน้นได้ปฐมฌาน รูปโน้นได้ทุติยฌาน รูปโน้นได้ตติยฌาน รูปโน้นได้จตุตถฌาน รูปโน้นเป็นพระโสดาบัน รูปโน้นเป็นพระสกทาคามี รูปโน้นเป็นพระอนาคามี รูปโน้นเป็นพระอรหันต์ รูปโน้นได้วิชชา ๓ รูปโน้นได้อภิญญา ๖ ดังนี้เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเขาจักมุ่งถวายบิณฑบาตแก่พวกเรา ด้วยอุบายอย่างนี้ พวกเราก็จักเป็นผู้พร้อมเพรียงกันร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุกและจักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต
            ภิกษุเหล่านั้นมีความเห็นร่วมกันว่า อาวุโสทั้งหลาย การที่พวกเราพากันกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์นี้แหละ ประเสริฐที่สุด แล้วพากันกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ว่า ภิกษุรูปโน้นได้ปฐมฌาน รูปโน้นได้ทุติยฌานรูปโน้นได้ตติยฌาน รูปโน้นได้จตุตถฌาน รูปโน้นเป็นพระโสดาบัน รูปโน้นเป็นพระสกทาคามีรูปโน้นเป็นพระอนาคามี รูปโน้นเป็นพระอรหันต์ รูปโน้นได้วิชชา ๓ รูปโน้นได้อภิญญา ๖ ดังนี้
            ครั้นต่อมา ประชาชนเหล่านั้นพากันยินดีว่า เป็นลาภของพวกเราหนอ พวกเราได้ดีแล้วหนอ ที่มีภิกษุทั้งหลายผู้มีคุณพิเศษเห็นปานนี้ อยู่จำพรรษาเพราะก่อนแต่นี้ ภิกษุทั้งหลายที่อยู่จำพรรษาของพวกเรา จะมีคุณสมบัติเหมือนภิกษุผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านี้ไม่มีเลย โภชนะชนิดที่พวกเขาจะถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น พวกเขาไม่บริโภคด้วยตน ไม่ให้มารดาบิดา บุตรภรรยาคนรับใช้ กรรมกร มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต ของเคี้ยวชนิดที่พวกเขาจะถวายแก่ภิกษุเหล่านั้นพวกเขาไม่เคี้ยวด้วยตน ไม่ให้มารดาบิดา บุตรภรรยา คนรับใช้ กรรมกร มิตร อำมาตย์ญาติสาโลหิต ของลิ้มชนิดที่พวกเขาจะถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น พวกเขาไม่ลิ้มด้วยตน ไม่ให้มารดาบิดา บุตรภรรยา คนรับใช้ กรรมกร มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต น้ำดื่มชนิดที่
พวกเขาจะถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น พวกเขาไม่ดื่มด้วยตน ไม่ให้มารดาบิดา บุตรภรรยา คนรับใช้กรรมกร มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต จึงภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้มีน้ำนวล มีอินทรีย์ผ่องใสมีสีหน้าสดชื่น มีผิวพรรณผุดผ่อง ก็การที่ภิกษุทั้งหลายออกพรรษาแล้วเข้าเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาคนั่นเป็นประเพณี ครั้นภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาโดยล่วงไตรมาสแล้วเก็บเสนาสนะ ถือบาตรจีวรหลีกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่พระนครเวสาลี เที่ยวจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลี ป่ามหาวันกูฏาคารศาลา แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
ภิกษุต่างทิศมาเฝ้า
           ก็โดยสมัยนั้นแล พวกภิกษุผู้จำพรรษาอยู่ในทิศทั้งหลายเป็นผู้ผอมซูบซีด มีผิวพรรณหมอง เหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ส่วนภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา เป็นผู้มีน้ำนวล มีอินทรีย์ผ่องใส มีสีหน้าสดชื่น มีผิวพรรณผุดผ่อง ก็การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุ พวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ร่างกายของพวกเธอยังพอทนได้หรือ ยังพอให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกันอยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ
            ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ยังพอทนได้พระพุทธเจ้าข้า ยังพอเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้าอนึ่ง พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกันไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุกและไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า
พุทธประเพณี
            พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ ย่อมไม่ตรัสถามก็มีทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลายย่อมตรัสถามสิ่งที่ที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ในสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ จักทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง
            ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต ด้วยวิธีการอย่างไร
            ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลเนื้อความนั้น ให้ทรงทราบแล้ว
            ภ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คุณวิเศษของพวกเธอนั่น มีจริงหรือ
            ภ. ไม่มีจริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียน
           พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆะบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้กล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งท้องเล่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ท้องอันพวกเธอคว้านแล้วด้วยมีดเชือดโคอันคม ยังดีกว่าอันพวกเธอกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์เพราะเหตุแห่งท้อง ไม่ดีเลยข้อที่เราว่าดีนั้น เพราะเหตุไร เพราะบุคคลผู้คว้านท้องด้วยมีดเชือดโคอันคมนั้นพึงถึงความตายหรือความทุกข์เพียงแค่ตาย ซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัยเบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ไม่พึงเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้กล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์นั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งมีการกระทำนี้แลเป็นเหตุ ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของคนบางพวกผู้เลื่อมใสแล้ว ครั้นแล้วทรงกระทำธรรมมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:-
มหาโจร ๕ จำพวก
            ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจร ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก มหาโจร ๕ จำพวกเป็นไฉน
            ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจรบางคนในโลกนี้ ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอเราจักเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว ท่องเที่ยวไปในคามนิคมและราชธานีเบียดเบียนเอง ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเอง ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง ให้ผู้อื่นเผาผลาญสมัยต่อมา เขาเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่ง แวดล้อมแล้วเที่ยวไปในคามนิคมและราชธานี เบียดเบียนเอง ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเอง ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง ให้ผู้อื่นเผาผลาญฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแลย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ เราจึงจักเป็นผู้อันภิกษุร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้วเที่ยวจาริกไปในคามนิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์และบรรพชิต สักการะ เคารพ นับถือ บูชายำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร สมัยต่อมา เธอเป็นผู้อันภิกษุร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว เที่ยวจาริกไปในคามนิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรงแล้ว ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๑ มีปรากฏอยู่ในโลก
            ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ย่อมยกตนขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๒มีปรากฏอยู่ในโลก
            ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามกำจัดเพื่อนพรหมจารี ผู้หมดจด ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์อยู่ด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์อันหามูลมิได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๓ มีปรากฏอยู่ในโลก
            ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมสงเคราะห์เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยครุภัณฑ์ ครุบริขาร ของสงฆ์ คือ อาราม พื้นที่อารามวิหาร พื้นที่วิหาร เตียง ตั่ง ฟูก หมอน หม้อโลหะ อ่างโลหะ กระถางโลหะ กระทะโลหะมีด ขวาน ผึ่ง จอบ สว่าน เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้ามุงกระต่าย หญ้าปล้อง หญ้าสามัญ ดินเหนียวเครื่องไม้ เครื่องดิน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๔ มีปรากฏอยู่ในโลก
            ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริงนี้จัดเป็นยอดมหาโจร ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้น ฉันก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้น ด้วยอาการแห่งคนขโมย.

นิคมคาถา
            ภิกษุใด ประกาศตนอันมีอยู่โดยการอื่น ด้วยอาการอย่างอื่น โภชนะนั้นอันภิกษุนั้น ฉันแล้ว ด้วยอาการแห่งคนขโมย ดุจพรานนกลวงจับนก ฉะนั้นภิกษุผู้เลวทรามเป็นอันมาก มีผ้ากาสาวะพันคอ มีธรรมทราม ไม่สำรวมแล้วภิกษุผู้เลวทรามเหล่านั้น ย่อมเข้าถึงซึ่งนรก เพราะกรรมทั้งหลายที่เลวทราม ภิกษุผู้ทุศีล ผู้ไม่สำรวมแล้วบริโภคก้อนเหล็กแดงดังเปลวไฟ ประเสริฐกว่า การฉันก้อนข้าวของชาวรัฐ จะประเสริฐอะไร.


ทรงบัญญัติปฐมบัญญัติ
           ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา โดยอเนกปริยายแล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใสการไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้นที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
            ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ 
เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ 
เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ 
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ 
เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ 
เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ 
เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ 
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ 
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ 
เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ 
เพื่อถือตามพระวินัย ๑


            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระปฐมบัญญัติ
            อนึ่ง ภิกษุใด ไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็น อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่านข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆเป็นเท็จเปล่าๆ แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
            สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการฉะนี้ ฯ
เรื่องภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา จบ
    Blogger Comment

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Recent Posts Widget