Banner
เมื่อพระพุทธศาสนาถูกบิดเบือน เราควรช่วยกันประคับประคอง นำคำสอนของพระศาสดามาปฏิบัติตาม

กฏอิทัปปัจจยตา : หัวใจปฏิจจสมุปบาท.

อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ เมื่อสิ่งนี้ มี สิ่งนี้ ย่อมมี
อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น.
อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ ไม่มี สิ่งนี้ ย่อมไม่มี
อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป.

พระจูฬปันถกเถระ เอตทัคคะในทางผู้ชำนาญในมโนมยิทธิ


พระจูฬปันถกเถระ
เอตทัคคะในทางผู้ชำนาญในมโนมยิทธิ
มโนมยิทธิ : ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ คือ เนรมิตกายอื่นออกจากกายนี้ ดุจชักดาบจากฝัก

พระจูฬปันถก เป็นน้องชายร่วมมารดาบิดาเดียวกันกับท่านพระมหาปันถก เมื่อ พระมหาปันถก สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วได้รับความสุขจากการหลุดพ้นสิ้นกิเลสาสวะทั้งปวงแล้ว มีความปรารถนาจะให้จูฬปันถก น้องชายมีความสุขเช่นนั้นบ้างจึงไปขออนุญาตจากธนเศรษฐีผู้เป็นคุณตา ซึ่งก็ได้รับอนุญาตและให้ความร่วมมือด้วยดี เพราะคุณตาก็เป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว เมื่อจูฬปันถกได้รับการอุปสมบทเรียบร้อยแล้ว ท่านพระมหาปันถก ผู้เป็นพี่ชายได้สอนคาถาพรรณนาพุทธคุณหนึ่งคาถา ความว่า…

ปทุมํ ยถา โกกนุทํ สุคนฺธํ
ปาโต สิยา ผุลฺลมวีตคนฺธํ
องฺคีรสํ ปสฺส วิโรจมานํ
ตปนุตมาทิจฺจมิวนฺตลฺเข ฯ

“ดอกปทุมชาติที่ชื่อว่าโกกนุท ขยายกลีบแย้มบานตั้งแต่เวลารุ่งอรุณยามเช้า กลิ่นเกษรหอมระเหยไม่รู้จบเธอจงพินิจดูพระสักยมุนีอังคีรส ผู้มีพระรัศมีแผ่ไพโรจน์อยู่ ดุจดวงทิวากรส่องสว่างอยู่กลางนภากาศ ฉะนั้น”

เริ่มเรื่อง
พระเถระรูปนี้ ได้บำเพ็ญบุญสมภารไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ สั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้น ๆ ไว้เป็นอันมาก และการที่พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งท่านให้เป็นเอตทัคคะถึง ๒ ประการเช่นนั้น ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ เหตุที่ท่านมีคุณอันยิ่งกว่าเหล่าภิกษุทั้งหลายในเรื่องดังกล่าว คือภิกษุรูปอื่นๆ เมื่อประสงค์จะนิรมิตกายด้วยการอธิฐานย่อมนิรมิตได้ ๓ รูป หรือ ๒ รูป หรือย่อมนิรมิตหลายรูปให้เป็นเหมือนกับรูปเดียวได้ และทำกิริยาอาการได้อย่างเดียวเท่านั้น แต่พระจุลปันถกเถระนิรมิตได้ ๑,๐๐๐ รูปโดยนึกครั้ง เดียวเท่านั้น และทั้ง ๑,๐๐๐ รูปนั้นก็สามารถทำกิริยาอาการได้ต่าง ๆ กัน  มิได้ทำกิริยาอาการอย่างเดียว เพราะฉะนั้นพระเถระจึงเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้นิรมิตกายสำเร็จแต่ใจ  นอกจากนั้นยังเนื่องมาจากการที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป อีกด้วย ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปดังนี้
บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า
ก็ในอดีตกาลครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ มีกุฎมพี ๒ พี่น้อง เป็นชาวเมืองหงสวดี เลื่อมใสในพระศาสดาไปฟังธรรมในสำนักพระศาสดาเป็นนิตย์ วันหนึ่งน้องชายได้เห็นพระศาสดาสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งผู้ประกอบด้วยองค์ ๒ ไว้ใน ตำแหน่งเอตทัคคะว่า ภิกษุรูปนี้เป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้เนรมิตกายมโนมัย และเป็นผู้ฉลาดในเจโตวิวัฎฎะในศาสนาของเรา จึงคิดว่า น่าอัศจรรย์หนอ ภิกษุนี้เป็นคนเดียวทำ ๒ องค์ให้บริบูรณ์ได้ แม้เราก็ควรเป็นผู้บำเพ็ญมีองค์ ๒ เที่ยวไปในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตเช่นกันดังนี้
เขาจึงนิมนต์พระศาสดา ถวายมหาทานสิ้นเวลา ๗ วัน แล้วทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุที่พระองค์สถาปนาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นยอดในศาสนาของพระองค์ด้วยองค์มโนมัย และด้วยความเป็นผู้ฉลาดในเจโตวิวัฎฎะ ใน ๗ วันก่อนนี้ ขอให้ข้าพระองค์ก็ได้เป็นเหมือนภิกษุนั้น ด้วยผลแห่งบุญที่ข้าพระองค์กระทำนี้เถิด พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคตก็ทรงเห็นว่า ความปรารถนาท่านจะสำเร็จโดยหาอันตรายมิได้ จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตในที่สุดแห่งแสนกัป พระพุทธเจ้าพระนามว่า โคตมะ จักทรงอุบัติขึ้น พระองค์จักสถาปนาเธอไว้ในฐานะทั้ง ๒ นี้ ดังนี้ ทรงกระทำอนุโมทนา แล้วเสด็จกลับไป
.แม้พี่ชายของท่านในวันหนึ่ง เห็นพระศาสดาทรงสถาปนา ภิกษุผู้ฉลาดในปัญญาวิวัฎฎะไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะก็กระทำบุญกุศลเหมือนอย่างนั้น กระทำความปรารถนาที่จะเป็นเช่นภิกษุนั้น พระศาสดาก็ทรงพยากรณ์ท่านเช่นเดียวกัน แล้วทั้ง ๒ พี่น้องนั้น เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ได้กระทำการะบูชาด้วยทองที่พระเจดีย์ที่บรรจุพระสรีระ
ในจุลลปันถกเถราปทาน ได้กล่าวถึงท่านไว้อีกอย่างหนึ่งดังนี้
ในสมัยแห่งพระปทุมุตระพุทธเจ้า ท่านได้เป็นดาบสบำเพ็ญภาวนาอยู่ในอาศรมใกล้ภูเขาหิมวันต์ ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จหลีกเร้นออกจากหมู่พระสาวก ประทับอยู่ ณ ภูเขาหิมวันต์ ท่านได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับนำเอาฉัตรประกอบด้วยดอกไม้และใบบัว ๗ ใบเข้าไปถวายพระบรมศาสดา ท่านได้ประคองฉัตรดอกไม้ด้วยมือทั้งสองถวายแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงรับทรงอนุโมทนา แล้วตรัสว่า ดาบสได้ประคองฉัตรใบบัว ๗ ใบให้แก่เรา เราจักพยากรณ์ดาบสนั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว
ดาบสนี้จักเสวยเทวรัช สมบัติอยู่ตลอด ๒๕ กัป และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๔ ครั้ง จะท่องเที่ยวสู่กำเนิดใดๆ คือ ความเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ในกำเนิดนั้นๆ จักทรงไว้ซึ่งดอกปทุมอันตั้งอยู่ในอากาศ ในแสนกัป พระศาสดาพระ นามว่าโคดมโดยพระโคตร ซึ่งมีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ดาบสผู้จักได้ความเป็นมนุษย์ เมื่อพระศาสดาทรงประกาศพระศาสนา จักเป็นผู้สามารถในการเนรมิตกายอันบังเกิดแล้วด้วยใจ จักมีพี่ชายซึ่งมีชื่อว่าปันถกเหมือนกับตน แม้ทั้งสองคนเสวยประโยชน์อันสูงสุดแล้ว จักยังพระศาสนาให้รุ่งเรือง
บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า
ครั้นท่านจุติจากภาพนั้นแล้วไปบังเกิดในเทวโลก เมื่อ ๒ พี่น้องเวียนว่ายอยู่ใน เทวดาและมนุษย์ล่วงไปถึงแสนกัป จุลปันถกะได้ออกบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เจริญโอทาตกสิณ ตลอดเวลา ๒๐,๐๐๐ ปี  ครั้งหนึ่งในระหว่างที่บวชอยู่นั้นท่านเป็นผู้มีปัญญา และได้กรรมโดยทำการหัวเราะเยาะ ในเวลาที่ภิกษุผู้เขลารูปหนึ่งเรียนอุเทศ ภิกษุนั้นเกิดความอายเพราะการเย้นหยันนั้นจึงไม่เรียนอุเทศ ไม่ทำการสาธยาย จึงเป็นผลกรรมส่งผลในสมัยปัจจุบันที่ท่านได้เป็นผู้โง่เขลา ไม่สามารถเรียนรู้พระธรรมได้เร็ว
นับแต่นั้น เขาได้สั่งสมบุญทั้งหลาย ท่องเที่ยวไปในภูมิเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เสวยสมบัติทั้งสองอยู่  
กำเนิดเป็นจุลปันถกในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า
ได้ยินว่า ธิดาของธนเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ กระทำการลักลอบได้เสียกับทาสของตนเอง แล้วก็กลัวว่าเรื่องจะปิดเอาไว้ไม่อยู่ก็จะเป็นอันตรายแก่ตนและสามี จึงได้คิดที่จะไปยังถิ่นที่ไม่มีคนรู้จัก จึงได้รวบรวมเอาแต่ของที่สำคัญ ๆ แล้วก็หนีออกไปจากเมืองนั้น ต่อมานางก็เกิดตั้งครรภ์ ครั้นเมื่อครรภ์แก่จัด นางจึงปรารถนาจะกลับไปคลอดยังตระกูลของตน แต่เมื่อครั้นนางปรึกษากับสามี สามีก็ผัดผ่อนเรื่อยมา จนกระทั่งครรภ์แก่จัด นางจึงตัดสินใจออกจากเรือนของตนเดินทางไปยังตระกูลของนาง แล้วได้สั่งความไว้กับเพื่อนบ้านว่าให้บอกสามีว่าตนจะไปคลอดยังตระกูลของนาง ครั้นเมื่อสามีของนางเดินทางกลับมาถึงบ้านก็ทราบว่านางเดินทางไปยังตระกูลตนก็ได้ติดตามไป และไปทันกันในระหว่างทาง และนางก็ได้คลอดบุตรในระหว่างทางนั้นเอง ทั้งสองจึงได้ตัดสินใจเดินทางกลับ ด้วยเห็นว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะกลับไปยังตระกูล ของนางผู้เป็นภรรยา เนื่องจากนางก็ได้คลอดเสียแล้ว สองสามีภรรยาตั้งชื่อ บุตรว่า ปันถกะ เพราะทารกนั้นเกิดในระหว่างทาง ต่อมาอีกไม่นานนัก นางก็ตั้งครรภ์บุตรอีกคนหนึ่ง เรื่องก็เป็นอย่างเดิมอีก คือบุตรคนที่สองก็ได้เกิดระหว่างทางเช่นเดียวกัน เขาจึงตั้งชื่อบุตรที่เกิดก่อนว่า มหาปันถก บุตรที่เกิด ที่หลังว่า จุลปันถก
มารดาส่งบุตรทั้งสองไปอยู่กับตา
เมื่อชนเหล่านั้นอยู่ในที่นั้น เด็กมหาปันถกะได้ยินเด็กอื่น ๆ เรียก อา ลุง ปู่ ย่า จึงถามว่ามารดาว่า แม่จ๋า เด็กอื่น ๆ เรียกปู่ เรียกย่า ก็ญาติของพวกเราในที่นี้ไม่มีบ้างหรือ นางตอบว่า จริงสิ ลูก ญาติของเราในที่นี้ไม่มีดอก แต่ในกรุงราชคฤห์ ตาของเจ้าชื่อธนเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์นั้นมีญาติของเจ้าเป็นอันมาก เด็กก็ถามว่า เพราะเหตุไรเราจึง ไม่ไปกันในกรุงราชคฤห์นั้นละแม่ นางผู้เป็นแม่ก็มิได้เล่าเรื่องสาเหตุที่ตนต้องออกมาอยู่ที่นี้มาแก่บุตร แต่ครั้นเมื่อบุตรพูดบ่อย ๆ เข้านางจึงบอกสามีว่า เด็ก ๆ เหล่านี้รบเร้าเหลือ เกิน ถ้าเรากลับไปแล้วพ่อแม่ของเราเห็นแล้วจักกินเนื้อเราหรือ มาเถอะ เราจะพาเด็ก ๆ ไปรู้จักสกุลตายาย แต่สามีนางกล่าวว่า ฉันพาเธอและลูก ๆ ไปยังตระกูลเธอได้ แต่ฉันไม่อาจอยู่สู้หน้ากับบิดา มารดาของเธอได้ นางผู้เป็นภรรยาจึงกล่าวว่า ดีละนาย เราควรให้เด็ก ๆ เห็นตระกูลตา ด้วยอุบายอย่างหนึ่งจึงควร ทั้งสองคนจึงพาทารกไปจนถึงกรุงราชคฤห์ เมื่อถึงแล้วได้พักที่ศาลาแห่งหนึ่งใกล้ประตูนคร มารดาเด็กจึงได้ส่งข่าวไปบอกแก่มารดาบิดาว่า ตนได้พาบุตร ๒ คนมา อันว่าสัตว์ที่เวียนว่ายอยู่ ในสงสารวัฎ ชื่อว่าจะไม่เป็นบุตรจะไม่เป็นธิดากันไม่มี มารดาบิดาของนางเมื่อได้ฟังข่าวนั้นแล้วก็ส่งคำตอบไปว่า คนทั้งสองมีความผิดต่อตระกูลมาก  ทั้ง ๒ คนไม่อาจอยู่ในตระกูลได้  จงเอาทรัพย์เท่านี้ไปและจงไปอยู่ยังสถานที่ที่เหมาะสมเถิด แต่จงส่งเด็กๆ มาให้เรา ธิดาเศรษฐีรับเอาทรัพย์ที่มารดาบิดาส่งไป แล้วมอบเด็กทั้ง ๒ ไว้ในมือคนที่มาส่งข่าวแล้วนั้น ตั้งแต่นั้นมาเด็กทั้ง ๒ นั้นเติบ โตอยู่ในตระกูลของตา
มหาปันถกออกบวช
ในเด็กทั้งสองคนนั้น จุลปันถก ยังเป็นเด็กเล็กนัก ส่วนมหาปันถกไปฟังธรรมกถาของพระผู้มีพระภาคเจ้ากับคุณตา เมื่อเขาฟังธรรมต่อพระพักตร์พระศาสดาอยู่เป็นประจำ จิตก็น้อมไปในบรรพชา เกิดศรัทธา ฟังธรรมแล้ว เพราะค่าที่ตนสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย เป็นผู้มีความประสงค์จะบรรพชา เขาจึงพูดกับตาว่า ถ้าตาอนุญาต หลานจะออกบวช ตากล่าวว่า พูดอะไรพ่อ การบรรพชาของเจ้าเป็นความเจริญทั้งแก่เราแลทั้งแก่ โลกทั้งสิ้น เจ้าจงบวชเถิดพ่อ ดังนี้แล้วก็พากันไปยังสำนักพระศาสดา ท่านตานั้นกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระศาสดาแล้ว พระศาสดาจึงตรัสมอบภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งว่า เธอจงให้ทารกนี้บวชเถิด พระเถระบอกตจปัญจกกัมมัฎฐานแก่ทารกนั้นแล้ว เมื่อเขาบรรพชาแล้ว เล่าเรียนพระพุทธพจน์ได้เป็นจำนวนมาก พอมีอายุครบ๒๐ ปี อุปสมบทแล้ว ทำมนสิการโดยอุบายอันแยบคายโดยพิเศษ เป็นผู้ได้อรูปฌาน ๔ ออกจากอรูปฌาน ๔ นั้นแล้ว ก็พยายามยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต
จุลปันถกออกบวช
ท่านพระมหาปันถกเถระยับยั้งอยู่ด้วยความสุขในฌาน ความสุขในมรรค ความสุข ในนิพพาน จึงคิดว่า เราอาจให้ความสุขชนิดนี้แก่จุลปันถกะได้ไหม หนอ แต่นั้นจึงไปยังสำนักของเศรษฐีผู้เป็นตา กล่าวว่า ท่านมหาเศรษฐี ถ้าโยมอนุญาต อาตมาจะให้จุลปันถกะบวช เศรษฐีกล่าวว่า จงให้บวชเถิดท่าน ขณะนั้นจุลปันถกมีอายุได้ ๑๘ ปี พระเถระให้จุลปันถกะบวชแล้วให้ตั้งอยู่ในศีล ๑๐ สามเณรจุลปันถกะ ด้วยความเป็นคนเขลา ซึ่งเป็นบุรพกรรมเมื่อครั้งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า พระจุลลปันถกบวชอยู่ แล้วได้ทำการหัวเราะเยาะภิกษุผู้เขลารูปหนึ่ง ในเวลาที่ภิกษุรูปนั้นเรียนอุเทศ ภิกษุนั้นละอาย เพราะการเย้ยหยันนั้นจึงไม่เรียนอุเทศ ไม่ทำการสาธยาย เมื่อพระเถระผู้พี่ชายให้เรียนคาถาบทหนึ่งบทเดียวว่า

เชิญท่านดูพระอังคีรส ผู้รุ่งเรืองอยู่
ดุจพระอาทิตย์ส่องแสงอยู่ในอากาศ
เหมือนดอกปทุมวิเศษชื่อโกกนุทะ
มีกลิ่นหอมบานอยู่แต่เช้าไม่ปราศจากกลิ่นฉะนั้น

เป็นเวลา ๔ เดือนก็ไม่สามารถท่องจำได้
จุลปันถกโดนพี่ชายขับไล่
ท่านพยายามเรียนคาถานี้อย่างเดียวเวลาก็ล่วงไปถึง ๔ เดือน คราวนั้น พระมหาปันถกะกล่าวกะท่านว่า ปันถกะเธอเป็นคนอาภัพ ในศาสนานี้ เธอจำคาถาแม้บทเดียวก็ไม่ได้เป็นเวลาถึง ๔ เดือน เธอจะทำกิจของบรรพชิตให้สำเร็จได้อย่างไร เธอจงออกไปจากวิหารนี้เสีย แล้วท่านพระเถระก็ปิดประตู ท่านถูกพระเถระขับไล่จึงไปยืนร้องไห้อยู่ ณ ท้ายพระวิหาร เพราะไม่ปรารถนาความเป็นคฤหัสถ์ และเพราะความรักในพระพุทธศาสนา
ความที่ท่านพระเถระขับไล่สามเณรจุลปันถกนั้น ต่อมาภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย พระมหาปันถกะได้กระทำเช่นนี้ ชะรอยความโกรธนั้นย่อมเกิดมีขึ้นแม้แก่พระขีณาสพทั้งหลาย”
พระศาสดาทรงทราบเรื่องที่ภิกษุพูดกันจึงเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยถ้อยคำอะไรหนอ ?”
เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเรื่องที่ตนพูดกันอยู่ จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพทั้งหลาย แต่บุตรของเราทำกรรมนั้นเพราะความที่ตนเป็นผู้มุ่งอรรถเป็นเบื้องหน้า และเพราะเป็นผู้มุ่งธรรมเป็นเบื้องหน้า”
พระพุทธเจ้าโปรดจุลปันถกะ
สมัยนั้น พระศาสดา ทรงเข้าอาศัยกรุงราชคฤห์ประทับ อยู่ในชีวกัมพวันสวนมะม่วงของหมอชีวก ในคราวนั้น พระมหาปันถกได้เป็นพระภัตตุเทสก์ผู้แจกภัต หมอชีวกโกมารภัจถือของหอมและดอกไม้เป็นอันมากไปอัมพวันของตน บูชาพระศาสดา ครั้นเมื่อฟังธรรมแล้วลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระทศพลแล้วเข้าไปหาพระมหาปันถกถามว่า ท่านผู้เจริญ ในสำนักของพระศาสดา มีภิกษุเท่าไร ?
พระมหาปันถกกล่าวว่า มีภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป
หมอชีวกกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ พรุ่งนี้ ท่านจงพาภิกษุ ๕๐๐ รูปมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ไปรับภิกษาในนิเวศน์ของผม
พระเถระกล่าวว่า พระจุลลปันถกเป็นผู้เขลา มีธรรมไม่งอกงาม อาตมภาพจะนิมนต์เพื่อภิกษุที่เหลือ ยกเว้นพระจุลลปันถกนั้น
พระจุลปันถกะได้ฟัง คำนั้นก็โทมนัสเหลือประมาณ พระศาสดาทรงเห็นพระจุลลปัณถกะร้องไห้อยู่ ทรงดำริว่า จุลปันถกะเมื่อเราไปจักบรรลุอรหัต จึงเสด็จไปแสดงพระองค์ในที่ที่ไม่ไกลแล้วตรัสว่า ปันถกะ เธอร้องไห้ทำไม
พระจุลลปันถกะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระพี่ชายฉุดคร่าข้าพระองค์ออก ด้วยเหตุนั้น ข้าพระองค์จะไปด้วยคิดว่าจักเป็นคฤหัสถ์
พระศาสดาตรัสว่า จุลลปันถกะ การบรรพชาของเธอชื่อว่ามีในสำนักของเรา เธอถูกพระพี่ชายฉุดคร่าออกไป เพราะเหตุไรจึงไม่มายังสำนักของเรา มาเถิด เธอจะได้ประโยชน์อะไรกับความเป็นคฤหัสถ์ เธอจงอยู่ในสำนักของเรา
แล้วทรงพาพระจุลลปันถกะไป ให้พระจุลลปันถกะนั้นนั่งที่หน้ามุขพระคันธกุฏี ตรัสว่า จุลลปันถกะ เธอจงผินหน้าไปทางทิศตะวันออก จงอยู่ ในที่นี้แหละ ลูบคลำผ้าท่อนเก่าไปว่า รโชหรณํ รโชกรณํ ผ้าเป็นเครื่องนำธุลีไป ผ้าเป็นเครื่องนำธุลีไป
แล้วทรงประทานผ้าเก่าอันบริสุทธิ์ซึ่งทรงเนรมิตขึ้นด้วยฤทธิ์
จุลปันถกสำเร็จพระอรหัต
ท่านนั่งเอามือคลำผ้าท่อนเล็กที่พระศาสดาประทานนั้น ภาวนาว่า รโชหรณํ รโชหรณํ เมื่อท่านลูบคลำอยู่ เช่นนั้น ผ้าผืนนั้นก็เศร้าหมอง เมื่อท่านลูบคลำอยู่บ่อย ๆ ก็กลายเป็นเหมือนผ้าเช็ดหม้อข้าว ท่านอาศัยความแก่กล้าแห่งญาณ เริ่มตั้งความสิ้นไป และความเสื่อมไปในผ้านั้น คิดว่า ผ้านี้โดยปกติสะอาดบริสุทธิ์ เพราะอาศัยอุปาทินนกสรีระ จึงเศร้าหมอง แม้จิตนี้ก็มีคติเป็น อย่างนี้เหมือนกัน
พระศาสดาทรงทราบว่า จิตของจุลลปันถกะขึ้นสู่วิปัสสนาแล้ว จึงตรัสว่า จุลลปันถกะ เธออย่ากระทำ ความสำคัญว่า ท่อนผ้าเก่านั่นเท่านั้นเป็นของเศร้าหมองย้อมด้วยฝุ่นธุลี แต่ ธุลีคือราคะเป็นต้นเหล่านั้นมีอยู่ในภายใน เธอจงนำธุลีคือราคะเป็นต้นนั้นไปเสีย
แล้วทรงเปล่งโอภาสเป็นผู้มีพระรูปโฉมปรากฏเหมือนประทับนั่งอยู่เบื้องหน้า ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

ราคะเรียกว่า ธุลี แต่ฝุ่นละอองไม่เรียกว่าธุลี คำว่า ธุลีเป็นชื่อของราคะ
ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละธุลีนั้นได้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี
โทสะ เรียกว่าธุลี แต่ฝุ่นละอองไม่เรียกว่า ธุลี คำว่าธุลีนี้ เป็นชื่อของโทสะ
ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละธุลีนั้นได้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี
โมหะ เรียกว่า ธุลี แต่ฝุ่นละอองไม่เรียกว่า ธุลี คำว่าธุลีนี้ เป็นชื่อของโมหะ
ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละธุลีนั้นได้แล้วย่อมอยู่ในศาสนสของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี

ในเวลาจบคาถา พระจุลปันถกะบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
ได้ยินว่า ในอดีตชาติกาลก่อน พระจุลลปันถกะนั้นเป็นพระราชา กำลังทำประทักษิณพระนคร เมื่อพระเสโทไหลออกจากพระนลาต จึงเอาผ้าขาวบริสุทธิ์เช็ดพระนลาต ผ้านั้นได้เศร้าหมองไป พระราชานั้นทรงได้อนิจจสัญญา ความหมายว่าไม่เที่ยง ว่าผ้าอันบริสุทธิ์เช่นนี้ เกิดเศร้าหมองก็เพราะร่างกายนี้ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ ด้วยเหตุนั้น ผ้าที่เป็นเครื่องนำธุลีออกไปจึงเป็นปัจจัยวิปัสสนาแก่พระจุลลปันถกะนั้น
พระจุลปันถกเถระแสดงฤทธิ์
วันรุ่งขึ้น พระศาสดาเสด็จไปพร้อมกับภิกษุ ๕๐๐ ประทับ นั่งในนิเวศน์ของหมอชีวกโกมารภัจ ส่วนพระจุลปันถกะไม่ได้ไปเพราะตนไม่ได้รับนิมนต์นั่นเอง
ขณะนั้น พระจุลลปันถกะคิดว่า พี่ชายของเราพูดว่า ในวิหารไม่มีภิกษุ เราจักประกาศความที่ภิกษุทั้งหลายมีอยู่ในวิหาร แก่พี่ชายของเรานั้น แล้วท่านก็นิรมิตภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป ซึ่งเหมือนกันและกันอย่างนี้ ทำให้อัมพวันทั้งสิ้นเต็มไปด้วยภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกหนึ่งทำการสาธยาย บางพวกทำบทภาณ บางพวกธรรมกถา บางพวกสวดสรภัญญะ ถามปัญหา แก้ปัญหา ย้อม ต้ม เย็บ ซักจีวรเป็นต้นมีประการต่างๆ
ครั้นถึงเวลาภัต ท่านชีวกโกมารภัจเริ่มถวายข้าวยาคู พระศาสดาทรงเอาพระหัตถ์ปิดบาตร
หมอชีวกทูลถามว่า เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่ทรงรับพระเจ้าข้า
ตรัสว่า ยังมีภิกษุอีกรูปหนึ่งในวิหาร ชีวก
หมอชีวกจึงส่งบุรุษไปว่า พนาย จงไปนิมนต์พระคุณเจ้าที่อยู่ในวิหารมาที
แม้พระจุลปันถกเถระเนรมิตภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป ในเวลาใกล้ที่บุรุษนั้นมาถึง ทำไม่ให้เหมือนกันแม้สององค์เดียว องค์หนึ่งๆ กระทำกิจของสมณะเป็นต้นว่า กะจีวรไม่เหมือนกับองค์อื่น ๆ
บุรุษนั้น เห็นภิกษุมีมากในวิหาร จึงกลับไปบอกหมอชีวกว่า นายท่าน ภิกษุในวิหารนี้มีมากผมไม่รู้จักพระคุณท่านที่จะพึงนิมนต์มาจาก วิหารนั้น
หมอชีวกจึงทูลถามพระศาสดาว่า ภิกษุอยู่ในวิหาร ชื่อไร พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชื่อจุลปันถกะชีวก
หมอชีวกกล่าวกะบริวารของตนว่า ไปเถิดท่าน จงไปถามว่า องค์ไหนชื่อจุลลปัณถกะ แล้วนิมนต์มา
บุรุษนั้นกลับมายังวิหาร ถามว่า องค์ไหนชื่อจุลปันถกะ ขอรับ
ภิกษุทั้ง ๑,๐๐๐ รูปกล่าวเหมือนกันว่า เราชื่อจุลปันถกะ เราชื่อจุลปันถกะ
บุรุษนั้นกลับไปบอกหมอชีวกอีกว่า ภิกษุประมาณ ๑,๐๐๐ รูป ทุกองค์บอกว่า เราชื่อจุลปันถกะ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า จุลปันถกะ องค์ไหนที่ท่านให้นิมนต์
หมอชีวกทราบได้โดยนัยว่า ภิกษุมีฤทธิ์เพราะแทงตลอดสัจจะแล้วจึงกล่าวว่า เจ้าจงจับที่ชายจีวรภิกษุองค์ที่กล่าวก่อน
บุรุษนั้นไปวิหารกระทำอย่างนั้นแล้ว ในทันใดนั้น ภิกษุประมาณ ๑,๐๐๐ รูป ก็อันตรธาน ไป บุรุษนั้นพาพระเถระมาแล้ว พระศาสดาจึงทรงรับข้าวยาคู ในขณะนั้น
เมื่อพระทศพลกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว พระศาสดาตรัสเรียกหมอชีวกมาว่า ชีวก ท่านจงรับบาตรของพระจุลลปันถกะ พระจุลลปันถกะนี้จักกระทำอนุโมทนาแก่ท่าน
หมอชีวกได้กระทำอย่างนั้น พระเถระกล่าวธรรมกถาอนุโมทนาภัตร พระเถระกล่าวธรรมกถามีประมาณเท่าคัมภีร์ ทีฆนิกายและมัชฌิมนิกาย แล้วพระพุทธองค์เสด็จกลับพระวิหาร
ครั้นในเวลาเย็น ภิกษุทั้งหลายประชุมกันริมด้านในโรงธรรมสภา นั่งปรารภเรื่องพระคุณของพระศาสดาว่า อาวุโสทั้งหลาย พระมหาปันถกไม่รู้อัธยาศัยของพระจุลลปันถกะ ไม่อาจให้เรียนคาถาเดียวโดยเวลา ๔ เดือน ฉุดออกจากวิหาร โดยกล่าวว่า จุลลปันถกะนี้โง่เขลา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาแก่พระจุลลปันถกะนั้น ในระหว่างภัตคราวเดียวเท่านั้น เพราะพระองค์เป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม น่าอัศจรรย์ ชื่อว่าพุทธพลังใหญ่หลวง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความเป็นไปของเรื่องนี้ในโรงธรรมสภา ทรงพระดำริว่า วันนี้เราควรไป จึงเสด็จไปประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาจัด ไว้แล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอพูดอะไรกัน
ภิกษุ : ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์มิได้กล่าว เรื่องอะไร ๆ อื่น กล่าวแต่คุณของพระองค์เท่านั้นว่า พระจุลปันถกะ ได้ลาภใหญ่แต่สำนักของพระองค์ ดังนี้
พระผู้มีพระภาค : ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระจุลลปันถกะบรรลุถึงความเป็นใหญ่ในธรรมทั้งหลายในบัดนี้ เพราะอาศัยเรามิใช่แต่เพียงในบัดนี้ แม้ในปางก่อน จุลลปันถกะนี้ก็ถึงความเป็นใหญ่ในโภคะแม้ในโภคะทั้งหลาย ก็เพราะอาศัยเราเช่นกัน
บุรพกรรมของพระเถระ
ภิกษุทั้งหลายจึงทูลวิงวอนว่า เมื่อไรพระเจ้าข้า พระศาสดา ทรงนำอดีตนิทานมาแสดงแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตรัสแสดง จุลลกมหาเศรษฐีชาดก ไว้ดังนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในเมืองพาราณสี ในแคว้นกาสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลเศรษฐี เจริญวัยแล้ว ได้รับตำแหน่งเศรษฐี ได้ชื่อว่าจุลลกเศรษฐี จุลลกเศรษฐีนั้นเป็นบัณฑิตฉลาด เฉียบแหลมรู้นิมิตทั้งปวง วันหนึ่งระหว่างทางที่จุลลกเศรษฐีนั้นจะไปเข้าเฝ้าพระราชา เห็นหนูตายในระหว่างถนน คำนวณดวงดาวและฤกษ์ในขณะนั้นแล้ว ก็กล่าวขึ้นว่า กุลบุตรผู้มีปัญญา อาจเอาหนูตายตัวนี้ไปกระทำการเลี้ยงดูภรรยาและ ประกอบการงานได้
กุลบุตรผู้ยากไร้คนหนึ่งชื่อว่า จูฬันเตวาสิก ได้ฟังคำของเศรษฐีนั้น แล้วคิดว่า ท่านเศรษฐีผู้นี้ถ้าไม่รู้จริง ก็จักไม่พูด ดังนั้นจึงเอาหนูไปขายในตลาดแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นอาหารแมว ได้ทรัพย์กากณึกหนึ่ง จึงซื้ออ้อยด้วยทรัพย์หนึ่งกากณึกนั้น แล้วเอาหม้อใบหนึ่งตักน้ำไป เขาเห็นพวกช่างดอกไม้มาจากป่าจึงให้ชิ้นอ้อยคนละหน่อยหนึ่ง แล้วให้ดื่มน้ำกระบวยหนึ่ง พวกช่างดอกไม้เหล่านั้นได้ให้ดอกไม้คนละกำมือแก่เขา
แม้ในวันรุ่งขึ้น เขาก็เอาค่าดอกไม้นั้นซื้ออ้อยและน้ำดื่มหม้อหนึ่ง ไปยังสวนดอกไม้ทีเดียว พวกช่างดอกไม้ได้ให้กอดอกไม้ที่เก็บไปแล้วครึ่งกอ แก่เขาในวันนั้นแล้วก็ไป ไม่นานนัก เขาก็ได้เงิน ๘ กหาปณะ โดยวิธีการนี้
ในวันมีลมพายุฝนวันหนึ่ง ไม้แห้งกิ่งไม้และใบไม้เป็นอันมากในพระราชอุทยาน ถูกลมพัดตกลงมา คนเฝ้าอุทยานไม่เห็นวิธีที่จะทิ้งไม้แห้งกิ่งไม้และใบไม้เหล่านั้น เขาจึงไปในพระราชอุทยานนั้นแล้วกล่าวกะคนเฝ้าอุทยานว่า ถ้าท่านจักให้ไม้และใบไม้เหล่านั้นแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักนำของทั้งหมดออกไปจากสวนนี้ของท่าน คนเฝ้าอุทยานนั้นรับคำว่า เอาไปเถอะนาย จูฬันเตวาสิกจึงไปยังสนามเล่นของพวกเด็ก ๆ ให้อ้อยแก่เด็กเล่านั้น แล้วให้ขนไม้และใบไม้ทั้งหมดออกไปโดยเวลาครู่เดียว แล้วให้กองไว้ที่ประตูอุทยาน ในกาลนั้นช่างหม้อหลวงเที่ยวหาฟืนเพื่อเผาภาชนะดินของหลวง เห็นไม้และใบไม้เหล่านั้นที่ประตูอุทยานจึงซื้อเอาจากจูฬันเตวาสิกนั้น วันนั้นจูฬันเตวาสิกได้ทรัพย์ ๑๖ กหาปณะ และภาชนะ ๕ อย่างมีตุ่มเป็นต้น ด้วยการขายไม้
เมื่อมีทรัพย์ ๒๔ กหาปณะ จูฬันเตวาสิกนั้นจึงคิดว่า เรามีวิธีนี้ แล้วตั้งตุ่มน้ำดื่มตุ่มหนึ่งไว้ในที่ไม่ไกลประตูพระนคร บริการคนหาบหญ้า ๕๐๐ คนด้วยน้ำดื่ม คนหาบหญ้าเหล่านั้นกล่าวว่า สหาย ท่านมีอุปการะมาก แก่พวกเรา พวกเราจะกระทำอะไรแก่ท่านได้บ้าง จูฬันเตวาสิกนั้นกล่าวว่า เมื่อเรามีเรื่องจะขอให้ท่านช่วย ก็ขอให้ท่านช่วยเราด้วย แล้วเที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้ ทำความสนิทสนมไว้กับเหล่าผู้ทำงานเกี่ยวกับการขนส่งบก และขนส่งทางน้ำ
เหล่าคนผู้ทำงานเกี่ยวกับการขนส่งทางบก ได้บอกแก่จูฬันเตวาสิกนั้นว่า พรุ่งนี้ พ่อค้ามาจักพาม้า ๕๐๐ ตัวมายังนครนี้ นายจูฬันเตวาสิกนั้นได้ฟังแล้ว จึงได้ไปติดต่อกับพวกคนหาบหญ้าว่า วันนี้ ท่านจงให้หญ้าแก่เราคนละกำ และเมื่อเรายังไม่ได้บอกขายหญ้า ท่านทั้งหลายอย่าขายหญ้าของตน ๆ คนหาบหญ้าเหล่านั้นรับคำแล้วก็นำหญ้า ๕๐๐ กำ มาลงที่ประตูบ้านของจูฬันเตวาสิกนั้น พ่อค้าม้านั้นไม่สามารถหาหญ้าสำหรับม้าของตนได้ เนื่องจากไปถามพวกคนเกี่ยวหญ้าก็ไม่มีใครขายหญ้าให้ พ่อค้าม้าเหล่านั้นจึงไม่ได้อาหารสำหรับม้าในพระนครทั้งสิ้น จึงต้องซื้อหญ้าจากจูฬันเตวาสิกนั้นในราคาหนึ่งพัน แล้วเอาหญ้านั้นไป
แต่นั้นล่วงไป ๒-๓ วัน สหายผู้ทำงานเกี่ยวกับการขนส่งทางน้ำบอกแก่จูฬันเตวาสิก นั้นว่า เรือใหญ่มาจอดที่ท่าแล้ว จูฬันเตวาสิกนั้นคิดว่า เรามีวิธีนี้ จึงเอาเงิน ๘ กหาปณะไปเช่ารถ ซึ่งเพียบพร้อมด้วยบริวารทั้งปวง แล้วไปยังท่าเรือด้วย ทำประหนึ่งเป็นผู้มียศอันยิ่งใหญ่ แล้วจึงติดต่อกับนายเรือ โดยให้แหวนวงหนึ่งเป็นมัดจำแก่นายเรือ แล้วให้กั้นม่านนั่งอยู่ในที่ไม่ไกล สั่งคนไว้ว่า เมื่อพ่อค้าภายนอกมา พวกท่านจงบอก โดยการบอกประวิงไว้สามครั้ง เมื่อเหล่าพ่อค้าจากเมืองพาราณสีประมาณร้อยคนทราบว่าเรือมาแล้ว จึงมาติดต่อนายเรือกล่าวขอซื้อสินค้า นายเรือจึงกล่าวว่า มีพ่อค้าใหญ่ซึ่งอยู่ที่นั้น ที่นั้น ได้ให้มัดจำไว้แก่เราเสียแล้ว เราขายสินค้าให้แก่ท่านไม่ได้ พ่อค้าเหล่านั้นได้ฟังดังนั้นจึงมายังที่พักของจูฬันเตวาสิกนั้น คนผู้รับใช้ใกล้ชิดจึงบ่ายเบี่ยงประวิงเวลาไว้สามครั้ง ตามที่จูฬันเตวาสิกสั่งไว้ พ่อค้าประมาณ ๑๐๐ คนนั้น จึงเสนอให้ทรัพย์คนละพัน เพื่อเป็นผู้มีหุ้นส่วนเรือกับจูฬันเตวาสิกนั้น แล้วจากนั้นพ่อค้าจึงเสนอให้อีกคนละพัน เพื่อให้จูฬันเตวาสิกขายหุ้นในส่วนของจูฬันเตวาสิก เพื่อให้สินค้าให้เป็นของพ่อค้านั้นทั้งหมด
จูฬันเตวาสินถือเอาทรัพย์สองแสนกลับมาเมืองพาราณสี คิดว่า เราควรเป็นคนกตัญญู จึงให้ถือเอาทรัพย์แสนหนึ่งไปยังที่อาศัยของจุลลกเศรษฐี ลำดับนั้น จุลลกเศรษฐีจึงถามจูฬันเตวาสิกนั้นว่า ดูก่อนท่าน เธอทำอะไรจึงได้ทรัพย์นี้ จูฬันเตวาสิกนั้นกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้ทำตามวิธีที่ท่านกล่าวจึงได้ทรัพย์ภายใน ๔ เดือนเท่านั้น แล้วเล่าเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่หนูตายเป็นต้นไป ท่านจุลลหมหาเศรษฐีได้ฟังคำของจูฬันเตวาสิกนั้นแล้วจึงคิดว่า บัดนี้ เราควรจะผูกมาณพนี้ให้อยู่กับเราจึงจะควร จึงยกธิดาของตนให้กับจูฬันเตวาสิก เมื่อท่านเศรษฐีล่วงลับไปแล้ว จูฬันเตวาสิกนั้นก็ได้ตำแหน่งเศรษฐี ในนครนั้น ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ได้ไปตามยถากรรม
พระศาสดาตรัสเรื่องนี้แล้วทรงตรัสพระคาถาว่าดังนี้
บุคคลผู้มีปัญญามีปัญญาเห็นประจักษ์ ย่อม
ตั้งตนได้ด้วยทรัพย์อันเป็นต้นทุนแม้เล็กน้อย
ดุจบุคคลก่อไฟอันน้อยให้โพลงขึ้นได้ ฉะนั้น
แล้วทรงประชุมชาดกว่า จูฬันเตวาสิกในกาลนั้น ได้เป็นพระจุลปันถกใน บัดนี้ ส่วนจุลลกมหาเศรษฐีในกาลนั้นได้เป็นเราเองแล

ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
ต่อมาพระศาสดาประทับนั่งเหนือธรรมาสน์ ทรงสถาปนาพระจุลปันถกเถระ ไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ฉลาดในเจโตวิวัฎฎะ ผู้เนรมิตกายมโนมัยได้ ทรงสถาปนาพระมหาปันถกเถระไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ฉลาดในปัญญาวิวัฎฎะ
ในเรื่องการเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้เนรมิตกาย อันสำเร็จได้ด้วยใจนั้น ก็เพราะ ภิกษุทั้งหลายเหล่าอื่น เมื่อจะเนรมิตกายให้เกิดขึ้น ก็ทำให้เกิดขึ้น ๓ รูปบ้าง ๔ รูปบ้าง แต่ทำคนมากให้บังเกิดเป็นเหมือนคนเดียวกันไม่ได้ ชื่อว่ากระทำกิริยาอาการได้อย่างเดียวเท่านั้น ส่วนพระเถระชื่อว่าจุลปันถก นิรมิตพระ ๑,๐๐๐ รูป ได้ด้วยขณะจิตเดียว และแต่ละรูปกระทำกิริยาอาการได้ต่าง ๆ กัน เพราะฉะนั้น ท่านชื่อว่า เป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้นิรมิตมโนมัยกาย
บรรดาทั้งสองรูปนั้น พระจุลปันถกเถระท่าน กล่าวว่าเป็นผู้ฉลาดในเจโตวิวัฎฎะ เพราะได้รูปาวจรฌาน ๔ พระมหาปันถกเถระท่านกล่าวว่า เป็นผู้ฉลาดในปัญญาวิวัฎฎะ เพราะเป็นผู้ฉลาดในสมาบัติ
พระมหาปันถกะ ชื่อว่า ผู้ฉลาดใน ปัญญาวิวัฎฎะ เพราะเป็นผู้ฉลาดในวิปัสสนา
อนึ่ง ในภิกษุ ๒ รูปนี้ รูปหนึ่งฉลาดในลักขณะสมาธิ รูปหนึ่งฉลาดในลักขณะแห่งวิปัสสนา
อนึ่ง รูปหนึ่งฉลาดในการหยั่งลงสมาธิ รูปหนึ่งฉลาดในการหยั่ง ลงสู่วิปัสสนา
อีกนัยหนึ่ง ใน ๒ รูปนี้ รูปหนึ่งฉลาดในการย่อองค์ รูปหนึ่งฉลาดในการย่ออารมณ์
อีกนัยหนึ่ง องค์หนึ่งฉลาดในการ กำหนดองค์ องค์หนึ่งฉลาดในการกำหนดอารมณ์
อีกอย่าง หนึ่ง พระจุลปันถกเถระ เป็นผู้ได้รูปาวจรฌาณ ออกจากองค์ฌานแล้วบรรลุพระอรหัต ฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในเจโตวิวัฎฎะ พระมหาปัณถกะเป็นผู้ได้อรูปาวจรฌาน ออกจากองค์ฌานแล้วบรรลุพระอรหัต ฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในปัญญาวิวัฎฎะ




    Blogger Comment

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Recent Posts Widget