Banner
เมื่อพระพุทธศาสนาถูกบิดเบือน เราควรช่วยกันประคับประคอง นำคำสอนของพระศาสดามาปฏิบัติตาม

กฏอิทัปปัจจยตา : หัวใจปฏิจจสมุปบาท.

อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ เมื่อสิ่งนี้ มี สิ่งนี้ ย่อมมี
อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น.
อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ ไม่มี สิ่งนี้ ย่อมไม่มี
อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป.

ธุดงค์ เป็นข้อปฏิบัติเพื่อสกัด ลด ละ กิเลส



ธุดงค์ เป็นข้อปฏิบัติเพื่อสกัด ลด ละ กิเลส และเพื่อเป็นอุบายช่วยในการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อยอันเป็นพื้นฐานที่จะรับรองการเจริญสมาธิและปัญญา หรือสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน
แต่ในปัจจุบันความรู้อย่างกระจ่างชัดในเรื่องของธุดงค์ ทั้งในภาคทฤฎีและภาคปฏิบัตินั้นมีน้อย ทั้งฝ่ายพระภิกษุผู้คิดจะปฏิบัติธุดงค์ และฝ่ายฆราวาสผู้เลื่อมใสในพระผู้ปฏิบัติธุดงค์ โดยมากมักเข้าใจในการถือธุดงค์คลาดเคลื่อนไปจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ ขอยกตัวอย่างความคลาดเคลื่อนในความเจ้าใจเรื่องธุดงค์เช่น
- พระที่จะปฏิบัติธุดงค์ ต้องมีกลด ต้องนอนในกลด
- พระที่จะปฏิบัติธุดงค์ ต้องเป็นพระป่า พระบ้านปฏิบัติธุดงค์ไม่ได้
ความเข้าใจอย่างนี้ทำให้เกิดการปฏิบัติที่ผิด เกิดการดูถูกดูหมิ่นตัวเอง ทำให้ผู้เลื่อมใสเกิดความเข้าใจผิด ขอกล่าวแก้ในที่นี้ไปพลางๆ ก่อน เพื่อเป็นการจูงให้เข้าหาการศึกษาเรื่องธุดงค์ที่เป็นหลักจริง เช่น การเข้าใจที่ว่าพระที่จะปฏิบัติธุดงค์ต้องมีกลด ต้องนอนในกลด ไม่จริงเสมอไป เพราะธุดงค์ที่ทรงอนุญาตให้พระมีกลดนั้นมีอยู่เพียงข้อเดียวคือ อัพโภกาสิกธุดงค์ ธุดงค์ของผู้ถือการอยู่ในที่กลางแจ้ง เพราะธุดงค์ข้อนี้ต้องอยู่กลางแจ้ง ทรงอนุญาตกลดไว้แก่พระที่ถือธุดงค์ข้อนี้ ก็เพื่อกันน้ำค้าง ลม แดด ร้อน หนาว ยุง เหลือบ ริ้น ฯลฯ ในสถานะเช่นนี้กลดจึงมีฐานะเท่ากับมุ้ง อย่าได้เข้าใจเป็นอย่างอื่น บางท่านบอกโยมว่าอาตมาถือธุดงค์เคร่งนัก แม้จำวัตรอยู่ในกุฎิก็ยังจำวัดในกลดเลย การพูดเช่นนั้นเป็นการโกหกหลอกลวง หรือไม่ก็เกิดขึ้นเพราะท่านเข้าใจผิดเอง
อีกอย่างหนึ่ง ความเข้าใจที่ว่าพระที่ถือธุดงค์ต้องอยู่ป่า ข้อนี้ก็ผิด เพราะธุดงค์ที่ทรงอนุญาตเกี่ยวกับเรื่องป่าเห็นมีอยู่ ๒ ข้อคืออารัญญิกธุดงค์ และ โสสานิกธุดงค์ เท่านั้น และป่าที่จะถือได้ว่าเป็นข้อปฏิบัติในธุดงค์นี้ต้องอยู่ไกลจากหมู่บ้านประมาณ ๕๐๐ ชั่วธนู คงไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ วา หรือ ๒๕ เส้น ก็หรือว่า ๑ กิโลเมตร วัดป่าที่ตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้านภายใน ๕๐๐ ชั่วธนูก็ไม่ใช่วัดป่า คงเป็นวัดบ้านธรรมดา ๆ นี้แหละ ต่างแต่ว่าท่านปลูกต้นไม้กันมาก ๆ ทำให้วัดน่ารื่นรมย์ เป็นการสร้างบรรยากาศภายในวัดให้เป็นวัดที่มีความสงบร่มเย็น ปัจจุบันถือว่าเป็นการสงสริมการปลูกป่าและรักษาป่าด้วย
ความจริง การปฏิบัติธุดงค์นั้นจะอยู่ในวัดป่าหรือวัดบ้านก็ปฏิบัติได้ สุดแต่ว่าผู้ปฏิบัติจะปฏิบัติธุดงค์ข้อไหน เพราะธุดงค์นั้นมีทั้งหมด ๑๓ ข้อ จะปฏิบัติธุดงค์ข้อไหนก็ดูให้เหมาะกับจริตอัธยาศัยของตน ข้อสำคัญต้องศึกษาให้รู้ถึงหลักการ วิธีการ ปฏิบัติการ และวัตถุประสงค์รวมถึงอานิสงส์ด้วย เมื่อศึกษาได้อย่างนี้การลงมือปฏิบัติธุดงค์จะไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ ฉะนั้นต่อไปนี้จึงขอเสนอ "ความรู้เรื่องธุดงค์" เพื่อเป็นแนวทางการศึกษาและการปฏิบัติที่ถูกที่ควร
ประการแรกที่ผู้ปฏิบัติธุดงค์จะต้องศึกษา คือความหมายของคำว่าธุดงค์, คำว่าธุดงค์ มีความหมาย ๒ ประการ คือ
๑. องค์ของภิกษุผู้กำจัดกิเลส
๒. ญาณเครื่องกำจัดกิเลส
จากความหมายของศัพท์นี้ จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติธุดงค์เพื่อลดละกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจเช่น ความมักมาก ความไม่สันโดษ ความโอ้อวด ความถือตัว มัวเมาอยู่ด้วยยศ ลาภ ชื่อเสียง บริวาร
ใครก็ตามที่กล่าวว่าตนเองปฏิบัติธุดงค์ แต่ยังไม่ลดละกิเลสยังมีความมักมาก ไม่สันโดษ ชอบโอ้อวด ดูถูกดูหมิ่นท่านอื่น ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธุดงค์ แต่ได้ชื่อว่าเป็นผู้หลอกลวงโลกด้วยข้อปฏิบัติทางศาสนา
ประการต่อมา ผู้ปฏิบัติธุดงค์ ต้องรู้ว่าจะปฏิบัติธุดงค์ไปพื่ออะไร เพราะกล่าวโดยทั่วไป การปฏิบัติธรรมไม่ว่าจะปฏิบัติธุดงค์ที่จะกล่าวนี้ หรือข้อปฏิบัติอื่นๆ ใด จะแบ่งผู้ปฏิบัติออกเป็น ๕ ประเภท ขอยกการถือธุดงค์เป็นตัวอย่างดังนี้
- พวกหนึ่ง ถือธุดงค์เพราะโง่ เซอะซะ คือ ไม่รู้เรื่องรูราว เห็นเขาถือก็ถือไปตามเขา
- พวกหนึ่ง ถือธุดงค์เพราะมีความปรารถนาชั่ว คือ ยากได้ชื่อเสียง อยากได้คำสรรเสริญ ได้บริษัทบริวารเป็นต้น
- พวกหนึ่ง ถือธุดงค์เพราะจิตฟุ้งซ่าน
- พวกหนึ่ง ถือธุดงค์พระเห็นว่าการถือธุดงค์นั้น พระพุทธเจ้าและท่านผู้รู้ทั้งหลายสรรเสริญ
- พวกหนึ่ง ถือธุดงค์เพราะมุ่งความมักน้อย สันโดษ ปรารถนาความสงบวิเวก ฝึกหัดขัดเกลากิเลสของตน
เพื่อให้การปฏิบัติธุดงค์เป็นไปโดยถูกต้องตามพุทธประสงค์ผู้ปฏิบัติต้องเรียนรู้ธรรมที่เป็นบริวานของธุดงค์ ๕ ประการ หมายความว่าผู้ปฏิบัติต้องมีธรรม ๕ ประการนี้ คือ
๑. อัปปิจฉตา ความมักน้อย
๒. สันตุฎฐิตา ความสันโดษ ยินดีปัจจัยตามมีตามได้
๓. สัลเลขตา ความฝึกหัดขัดเกลากิเลส
๔. ปวิเวกตา ความปรารถนาความวิเวก
๕. ตทัตถิตา ความรู้ว่าการปฏิบัติธุดงค์นี้ ก็เพื่อธรรมนั้น
ธรรม ๕ ประการนี้เป็นเหมือนทหารคนสนิท ธรรมของผู้ปฏิบัติธุดงค์ จะคอยเตือนสติให้รู้ว่าผู้ปฏิบัติธุงค์ต้องทรงภูมิธรรมอย่างนี้ ถ้าถือธุดงค์แล้วยังมีพฤติกรรมที่ปฏิบัติตรงกันข้ามกับธรรม ๕ ประการนั้น เช่นยังมักมาก ไม่สันโดษ ไม่ฝึกหัดขัดเกลากิเลส ไม่ปลีกตน ยังคลุกคลีกับหมู่คณะ ไปไหนมาไหนมีบริษัทบริวารติดตามห้อมล้อม และไม่รู้ด้วยว่าจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติธุดงค์เพื่ออะไรน่าอันตราย จะกลายเป็นไปในทำนองธุดงค์หาลาภ บริวาร ยศ ชื่อเสียง เกียรติคุณไป
..............
Cr:http://www.watsaladaeng.com/index.php…
SHARE

Chumpen

  • Image
  • Image
  • Image
  • Image
  • Image
    Blogger Comment

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Recent Posts Widget